วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เข้าใจต้นเหตุเกิดโรคริดสีดวงทวาร


โรคริดสีดวงทวารอาจสร้างความเจ็บปวดและอับอายแก่ผู้ที่พบเจอโรคนี้ แล้วทราบไหมคะว่า สาเหตุหลักๆ เกิดจาก
การเบ่งถ่ายอุจจาระบ่อยๆ นานๆ ค่ะ ซึ่งเป็นผลจากการท้องผูก การตั้งครรภ์ พฤติกรรมการดำรงชีวิต และลักษณะของการถ่ายอุจจาระ เช่น ชอบอ่านหนังสือในห้องสุขา การถ่ายอุจจาระบนส้วมชักโครก การยกของหนักๆ การนั่งหรือยืนท่าใดท่าหนึ่งติดต่อกันนานๆ การกลั้นอุจจาระ เป็นต้น รวมถึงการเบ่งอุจจาระบ่อยๆ นานๆ จะส่งผลเพิ่มระดับแรงดันในช่องท้อง ทำให้การไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดดำบริเวณทวารหนักไม่สะดวก เกิดการยืด ย่น คด งอ พอง และโตขึ้นเป็นติ่งเนื้อ เมื่อใดก็ตามที่มีของแข็งๆ มาเสียดสี เช่น อุจจาระแข็งๆ หรือเพิ่มระดับแรงดันขึ้นอีก ก็จะทำให้เกิดการปริแตกหรือฉีกขาดของหลอดเลือดดำ ทำให้เกิดเลือดออกมาเป็นเลือดสดๆ ได้นั่นเอง
              
นอกจากการเบ่งถ่ายอุจจาระนานๆ ที่เป็นสาเหตุหลักแล้ว ยังพบว่าระดับความดันเลือดในตับที่สูง (ซึ่งเกิดได้จากความอ้วน หรือโรคตับ) อายุที่มากขึ้น อาการท้องเสียเรื้อรัง หรือการร่วมเพศทางทวารหนัก ล้วนเป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดริดสีดวงทวารหนักได้เช่นกัน ดังนั้น ลองสำรวจพฤติกรรมการกิน การขับถ่ายของเราหน่อยนะคะ ว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคริดสีดวงทวารมากน้อยเพียงใด และการหลีกเลี่ยงก็ทำได้ง่ายมากๆ เลยค่ะ มาดูกันค่ะว่ามีวิธีไหนบ้าง

1.ดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 1-2 ลิตร หรือ 8-10 แก้ว ประโยชน์ของการดื่มน้ำ ทราบกันอยู่แล้วใช่ไหมว่า ดีต่อสุขภาพที่สุด
2.เลี่ยงอาหารประเภทเนื้อหรือพวกอาหารที่มีกากน้อย และกินผักผลไม้ที่มีกากมากขึ้น เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท มะละกอ สับปะรด เป็นต้น หากเริ่มท้องผูกต้องใส่ใจอาหารให้มากขึ้นแล้วค่ะ
3.ออกกำลังกาย อย่าเพิ่งออกตัวว่าไม่มีเวลานะคะ เพราะสุขภาพที่แข็งแรงมาจากการออกกำลังกายทั้งนั้นค่ะ
4.ฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ซึ่งช่วงเวลาที่ระบบขับถ่ายดีที่สุด คือเวลา 05.00-07.00. ค่ะ ไม่ควรกลั้นอุจจาระ และนั่งถ่ายนานๆ (การนั่งถ่ายนานๆ มีรายละเอียดข้างต้น)
เห็นไหมล่ะคะว่า เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก็ห่างไกลโรคริดสีดวงทวารแล้วค่ะ และหากใครกำลังประสบปัญหาเรื่องท้องผูกที่เสี่ยงให้เป็นโรคริดสีดวง สิ่งสำคัญคือ อย่ารอให้เป็นมากแล้วค่อยไปหาคุณหมอนะคะ ควรดูแลตัวเองในระดับเบื้องต้น ถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรพบคุณหมอโดยด่วนค่ะ หรือในกรณีที่ไม่เข้าใจอาการที่เป็นอยู่ก็ควรปรึกษาหรือพบคุณหมอเช่นกันค่ะ อย่าลืมนะคะ อยากมีสุขภาพดีห่างหมอไกลโรค เริ่มที่ตัวเองเท่านั้นค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูล: Thaiware.com, ข้อมูลโดยนิตยสารหมอชาวบ้าน, www.blessingplus.com , gnewstrading.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น